• 1630 เข้าชม
  • 9 พฤศจิกายน 2560

ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลสระว่ายน้ำ จะทราบดีว่า เนื่องจากเราใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อโรค การที่จะทำให้ การดูแลสระว่ายน้ำเป็นเรื่องง่าย และสะดวก หากมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคลอรีนก็จะทำให้งานยากเป็นง่ายขึ้นมาได้ คลอรีนที่ใช้ในสระว่ายน้ำมีเหตุผลความสำคัญ 3 เรื่อง คือ ด้วยคุณสมบัติที่ให้ผลรวดเร็ว ในการฆ่าเชื้อโรค และ
ยังคงรักษาสภาพความสะอาดอยู่ได้  มีประสิทธิภาพในการทำลายสาหร่าย และตัวคลอรีนเองเป็นสารออกซิไดเซอร์ ชนิดแรง และจะทำปฎิกริยากับสารปนเปื้อนอื่น การเข้าใจถึงบทบาทของคลอรีนในการทำให้น้ำเป็นน้ำที่มี ความสะอาดปลอดภัย ก็จะทำให้ทราบถึงพื้นฐานของการใช้เคมีของสระว่ายน้ำได้เป็นอย่างดี

การใช้คลอรีน
หลังจากได้ใส่คลอรีนในสระว่ายน้ำแล้ว ควรได้มีการตรวจสอบทุกวันเป็นอย่างน้อย เพื่อให้การฆ่าเชื้อโรค มีประสิทธิภาพ การเติมคลอรีนทุกวันจะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่มีอันตราย และที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของคนได้ เช่น โรคทางเดินอาหาร หูน้ำหนวก โรคน้ำกัดเท้า การรู้วิธีตรวจสอบน้ำในสระ จะทำให้ทราบถึงปริมาณคลอรีนที่เหลืออยู่ และ
ปริมาณความต้องการเติมคลอรีนเพิ่มในแต่ละครั้ง

คำจำกัดความที่สำคัญ
คลอรีนอิสระที่มีอยู่ FAC (Free Available Chlorine) คือ สัดส่วนของคลอรีนทั้งหมด ที่ยังเหลืออยู่ในน้ำที่ผ่านคลอรีนแล้ว และยังไม่ได้ทำปฎิกริยาใด ๆ กับสิ่งปนเปื้อน คลอรีนอิสระนี้จะทำหน้าที่ในการฆ่าแบคทีเรีย และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ  จึงควรแน่ใจว่าสระว่ายน้ำมีชุดตรวจ (Test Kit) หาคลอรีนอิสระ ( FAC) แล้ว เพราะชุดตรวจโดยทั่ว ๆ ไป จะตรวจหาเฉพาะปริมาณคลอรีนทั้งหมด (Total Chlorine) เท่านั้น  ไม่ได้ตรวจคลอรีนอิสระ

คลอรีนรวมที่มีอยู่ (CAC) หรือ คลอรามีน (Combined Available Chlorine or Chloramines) คือ สัดส่วนคลอรีนในน้ำที่ได้ทำปฎิกริยาและรวมตัวกับแอมโมเนีย,สารปนเปื้อน ที่ประกอบด้วยไนโตรเจน และ สารอินทรีย์อื่น เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ และของเสียอื่น ๆ จากนักว่ายน้ำ ซึ่งคลอรีนบางตัวจะทำให้ตาแสบระคายเคือง และ มีกลิ่นของคลอรีน

คลอรีนทั้งหมด (Total Chlorine) เป็นค่าผลรวมของคลอรีนอิสระ (Free Available Chlorine) และคลอรีนรวม (Combined Chlorine)

ส่วนในล้านส่วน, ppm (Parts Per Million) เป็นค่าที่บอกถึงสัดส่วนของสาร เช่น คลอรีนมีสัดส่วนเป็นน้ำหนัก 1 ส่วนต่อปริมาตรน้ำในสระ 1 ล้านส่วน

การบำบัดเฉียบพลัน (Shock Treatment) เป็น การบำบัดน้ำในสระให้สะอาด โดยการเติมสารออกซิไดซ์จำนวนหนึ่งลงในสระว่ายน้ำ เพื่อทำลายแอมโมเนีย, สารปนเปือนที่มีไนโตรเจน หรือสารอินทรีย์ การเติมคลอรีนจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการบำบัดแบบเฉียบพลัน จะสามารถควบคุมสาหร่ายและแบคทีเรียได้ แต่ผู้ใช้จะต้องอ่านคำแนะนำที่ภาชนะบรรจุคลอรีนก่อนว่าคลอรีนชนิดที่ใช้อยู่ สามารถใช้วิธีการแบบนี้ได้หรือไม่                       
 
ประเภทของคลอรีนที่นิยมใช้
คลอรีนที่ใช้กันแพร่หลายในสระว่ายน้ำทั่วไป จะได้แก่

- ก๊าซคลอรีน (Chlorine Gas)

- โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium Hypochlorite) น้ำยาฟอกขาว

- แคลเซียม ไฮโปคลอไรท์ (Calcium Hypochlorite) ทั้งชนิดเกล็ดหรือเม็ด

- ลิเทียม ไฮโปคลอไรท์ (Lithium Hypochlorite)

- คลอริเนทเต็ท ไอโซไซยานูเรท (Clorinated Isocyanurates)

หลักการ คือ เมื่อสารประกอบคลอรีนเหล่านี้สัมผัสกับน้ำ ก็จะปล่อยกรดไฮโปคลอรัส(HOCL) ออกมาเป็น สารที่ฆ่าเชื้อโรค ส่วนคลอริเนทเต็ท ไอโซไซยานูเรท(Clorinated Isocyanurates)  ซึ่งสารประกอบในกลุ่มนี้ ได้แก่ โซเดียม ไดคลอโรไอโซ ไซยานูเรท (Sodium Dichloroisocyanurate) และไตรคลอโรไอโซไซยานูเรท (Trichloroisocyanurate) เมื่อ สัมผัสกับน้ำจะให้กรดไซยานูริค (Cyanuric Acid) เป็นตัวปรับสภาพน้ำ (Stabilizer) สารปรับสภาพน้ำสามารถแยกเติม ในสระว่ายน้ำ เพื่อลดการสูญเสียคลอรีน อันเนื่องจากรังสีอุลตราไวโอเล็ทจากดวงอาทิตย์
 
ขั้นตอนการดูแลสระว่ายน้ำ

- ควรอ่านฉลากคำแนะนำการใช้ที่ภาชนะบรรจุคลอรีนอย่างละเอียด

- ตรวจสอบคุณภาพน้ำในสระอย่างสม่ำเสมอ ทำความเข้าใจในการใช้ชุดตรวจสอบ คุณภาพน้ำ (Test Kit) เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลทางเคมีของน้ำในสระได้โดยทำการวัดค่าต่อไปนี้

          1. ระดับของค่าคลอรีนอิสระ (FAC) ไม่ควรต่ำกว่า 1.0 ppm

          2. ระดับของค่าคลอรีนทั้งหมด (Total Chlorine) เพื่อไม่ให้ค่าคลอรีน รวมที่อยู่ในน้ำต่ำกว่า 0.2 ppm

          3. ค่า pH ควรอยู่ระหว่าง 7.2 - 7.6 ซึ่งคลอรีนในน้ำจะทำหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          4. วัดค่าอัลคาลินิตี้รวม (Total Alkalinity) เพื่อให้แน่ใจว่าค่า pH อยู่คงที่

          5. วัดความกระด้างของน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันการกัดกร่อนของพื้นผิวสระว่ายน้ำ 
 
มาตรฐานทางเคมีของสระว่ายน้ำ
แนวทางที่กำหนดเป็นมาตรฐานทางเคมีของสระว่ายน้ำ โดยสถาบันสระว่ายน้ำแห่งชาติ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขของแต่ละแห่งชนิดของสารเคมีที่ใช้ในแต่ละสระว่ายน้ำที่มี ความแตกต่างกัน และความแตกต่างกันในแต่ละวัน การจดบันทึกข้อมูลการใช้สารเคมี และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าถึงคุณสมบัติของน้ำในสระได้ และทำให้การแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตรงถูกจุด

- คลอรีนอิสระ (ppm) 1.0 - 3.0
- คลอรีนรวม (ppm) -
- pH 7.2 - 7.6
- Total Alkalinity (ppm) (เมื่อใช้คลอรีนเหลว, แคเซียมไฮโปคลอไรท์ และลิเทียม ไอโปคลอไรท์) 80 - 100
- Total Alkalinity (ppm) (เมื่อใช้ก๊าซคลอรีน, ไดคลอโร, ไตรคลอโร, และสารประกอบโบรมีน) 100 - 120
- Total Dissolved Solids (ppm) (ของแข็งที่ละลายในน้ำทั้งหมด) 1,000 - 2,000
- Calcium Hardness (ppm) (ความกระด้าง) 200 - 400
- Cyanuric Acid (ppm) (กรดไซยานูริค) 30 - 50

หมายเหตุ ค่ามาตรฐานตาม National Spa and Pool Institute