ความรู้พื้นฐานในการบำบัดสระว่ายน้ำ
- 2818 เข้าชม
- 26 กุมภาพันธ์ 2561
การรักษาความสมดุลของน้ำ (Water Balance)
การรักษาความสมดุลของน้ำ เป็นการรักษามาตรฐานของเคมีในสระว่ายน้ำ เพื่อให้น้ำในสระใสสะอาด เพื่อให้กระบวนการฆ่าเชื้อโรคทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ใช้งานสระว่ายน้ำ และ ช่วยป้องกันปัญหาน้ำเสียแบบต่าง ๆ
pH (พีเอช) คือ ค่าที่บอกถึงสถานะความเป็นกรด – ด่าง ของน้ำ โดยระดับค่ามาตรฐานที่ถูกต้องของค่า พีเอช ในสระว่ายน้ำจะอยู่ระหว่าง 7.2 – 7.6 หากค่าพีเอชในสระว่ายน้ำอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 7.2 แสดงว่าน้ำมีความเป็นกรด ส่วนค่าพีเอชที่มีระดับสูงกว่า 7.6 แสดงว่าน้ำมีความเป็นด่าง ค่าพีเอชจะมีส่งผลต่อปัจจัยการบำบัดน้ำ 2 ปัจจัยหลัก ส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรค และ ส่งผลต่อสุขภาพผู้ใช้งานสระว่ายน้ำ
สาเหตุที่เราจะต้องรักษา ค่าพีเอชให้อยู่ระหว่าง 7.2 – 7.6
- ค่าพีเอชที่ถูกต้อง จะส่งผลโดยตรงในการทำงานของคลอรีน ทำให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้สระว่ายน้ำคงความสะอาดปราศจากแบคทีเรีย ตะไคร่ และ เชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำ
- ค่าพีเอชที่ไม่ถูกต้อง เมื่อค่าพีเอชต่ำ จะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ตาแดง
- ค่าพีเอชที่ไม่ถูกต้อง เมื่อค่าพีเอชสูง จะเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำขุ่น ปัญหาตะกอนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดหินปูนน้ำได้ ซึ่งจะชะลอประสิทธิภาพการทำงานของระบบกรองน้ำ ระบบเกลือ และ ระบบทำน้ำร้อน กรณีค่าพีเอชที่สูงกว่ามาตรฐาน ยังส่งผลให้คลอรีนไม่ทำงาน หรือ ทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคต่ำลง และ หากเราไม่ทำการปรับค่าพีเอชให้ถูกต้องแล้ว เราจำเป็นต้องใช้ปริมาณคลอรีนที่มากขึ้นเพื่อการบำบัดน้ำในสระอีกด้วย
การรักษาค่าพีเอชเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเคมีแก้ปัญหาน้ำต่าง ๆ อาทิ น้ำยากำจัดตะไคร่ น้ำยาช่วยเร่งการตะกอน ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การรักษาค่าพีเอชให้ถูกต้องตามมาตรฐานสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายการใช้คลอรีนที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย
Total Alkalinity (อัลคาไลนิตี้) เป็นสิ่งที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงของค่าพีเอช และ ส่งผลให้ค่าพีเอชมีความคงที่ โดยค่าอัลคาไลนิตี้สำหรับสระว่ายน้ำควรอยู่ที่ระดับ 80 – 120 ppm
- กรณีค่าอัลคาไลนิตี้ต่ำ จะส่งผลต่อค่าพีเอชให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าพีเอชเพิ่มขึ้น และ ลดลงอย่างไม่คงที่ ส่งให้เกิดการกัดกร่อนต่อวัสดุที่เป็นเหล็ก ระคายเคืองตาและผิวหนัง
- กรณีค่าอัลคาไลนิตี้สูง จะทำให้เราปรับค่าพีเอชได้ยาก เนื่องจากค่าอัลคาไลนิตี้ที่สูงขึ้นกว่าระดับมาตรฐานจะทำให้ค่าพีเอชเกิดการคงตัว
หากกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ค่าอัลคาไลนิตี้เป็นต้นเหตุที่ส่งผลต่อค่าพีเอช
Calcium Hardness (ค่าความกระด้างของน้ำ) เป็นค่าที่บอกถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำ อาทิ แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น ค่าความกระด้างของสระว่ายน้ำควรอยู่ที่ 150 – 350 ppm
- กรณีค่าความกระด้างของน้ำต่ำ จะส่งผลให้เกิดการกัดกร่อนต่อส่วนประกอบที่เป็นเหล็ก อาทิ ฮีตเตอร์ขอองสระว่ายน้ำ ทำให้ระคายเคืองผิวหนังและตาต่อผู้ใช้งาน
- กรณีค่าความกระด้างของน้ำสูง หรือ ที่เราส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าน้ำมีหินปูนเยอะนั่นเอง จะส่งผลให้เกิดการตกตะกอน น้ำขุ่นขาว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของ ระบบกรองน้ำ ระบบทำน้ำร้อน ระบบเกลือ ระบบท่อน้ำ ปั๊มของระบบหมุนเวียนน้ำ ลดต่ำลง
การฆ่าเชื้อโรค (Sanitization)
การฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ เป็นกระบวนการที่ทำให้น้ำในสระปราศจากแบคทีเรีย เชื้อโรค และตะไคร่น้ำ เพื่อทำให้น้ำในสระใสสระอาด สามารถใช้น้ำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ การฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำที่นิยมใช้ คือ การฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน และ การฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบเกลือ ซึ่งการตรวจเช็คประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคทั้ง 2 ระบบ ที่เราควรรู้มีดังต่อไปนี้
Free Chlorine (ฟรีคลอรีน) เป็นค่าคลอรีนที่ทำหน้าที่ในการฆ่าเชื้อโรค เป็นเหมือนกับเกราะป้องกันสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรียในน้ำที่โตขึ้น ตะไคร่น้ำ สิ่งปนเปื้อน สาเหตุของโรคทางน้ำ และเชื้อโรคต่าง ๆ เพื่อให้น้ำในสระพร้อมสำหรับผู้ใช้งาน ได้ใช้สระว่ายน้ำที่สะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพ ค่าฟรีคลอรีนในสระว่ายน้ำที่กระทรวงสาธารณสุขควบคุมสำหรับสระว่ายน้ำสาธารณะ คือ 0.6 – 1.0 ppm
Combined Chlorine (คอมไบน์คลอรีน) เป็นค่าคลอรีนที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจับตัวกับสารประกอบอื่น ๆ และคงตัวอยู่ในสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นคลอรีนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรค ปริมาณค่าคอมไบน์คลอรีนที่สูงขึ้น จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้กลิ่นเหม็นในสระว่ายน้ำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ต่อปอด การหายใจ ทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณ คอ จมูก ทำให้ผิวหนังแห้ง คัน ทำให้ผมแห้ง ตาแดง ทั้งเป็นสาเหตุของโรคหอบหืดอีกด้วย
ค่าคอมไบน์คลอรีนที่กระทรวงสาธารณสุขควบคุมสำหรับสระว่ายน้ำสาธารณะ คือ ไม่เกิน 0.5 – 1.0 ppm และเมื่อพบว่าปริมาณค่าคอมไบน์คลอรีนมากเกินกว่ามาตรฐานให้ทำการ Shock ซึ่งเป็นกระบวนการในการกำจัดค่าคอบไบน์คลอรีนในสระว่ายน้ำ
เมื่อกล่าวถึงคลอรีนแล้ว หลายท่านอาจมีความกังวล มีความกลัวต่อคลอรีนเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์การใช้งานสระว่ายน้ำตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีการตรวจเช็ค การรักษามาตรฐานความสมดุลของน้ำ รวมถึงระดับค่าคลอรีนที่ถูกต้อง
แต่หากเราได้ทำความเข้าใจแล้วว่าสิ่งใดส่งผลกระทบต่อการทำงานของคลอรีน แล้วสามารถการรักษาระดับค่าคลอรีนให้ได้มาตรฐานตามที่กล่าวไปข้างต้น การใช้งานคลอรีนอย่างถูกต้องก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อระบบสระว่ายน้ำ โครงสร้างสระว่ายน้ำ และได้มีสระว่ายน้ำที่ใสสะอาดปราศจากเชื้อโรค และ ยังส่งผลดีต่อสุขภาพแก่ทุกคนในครอบครัวอีกด้วย
ที่มา :: http://www.qandgpoolspa.com/ความรู้พื้นฐานในการบำบัดน้ำในสระว่ายน้ำ