• 1465 เข้าชม
  • 12 กุมภาพันธ์ 2562

หากสระว่ายน้ำที่คุณกระโดดลงไปเป็นสระว่ายน้ำส่วนตัวที่มีคุณรู้อยู่เพียงคนเดียวว่าแอบปัสสาวะลงไปก็คงจะไม่เป็นปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณไม่สามารถวางใจเพื่อนมนุษย์ได้ เมื่อต้องใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ ดังนั้นจึงควรปลุกจิตสำนึกขึ้นมาและทราบไว้ว่า ปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถูกเพิ่มลงไปในสระนั้นทำปฏิกิริยาทางเคมีกับคลอรีนและสร้างสารพิษที่เรียกว่าไซยาไนด์คลอไรด์ (Cyanogen Chloride)

ไซยาไนด์คลอไรด์หรือบางครั้งถูกเรียกว่าไนโตรเจนไตรคลอไรด์ ถูกสร้างขึ้นจากการที่คลอรีนในสระว่ายน้ำทำปฏิกิริยากับกรดยูริกในปัสสาวะ ซึ่งสารดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับแก๊สน้ำตา ที่มีความระคายเคืองต่อดวงตา จมูก และปอด และก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากในปริมาณความเข้มข้นสูง จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะวัดปริมาณของไซยาไนด์คลอไรด์ในสระว่ายน้ำเพื่อประเมินความเสี่ยงและหาวิธีการป้องกัน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ความยากในการวัดปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีที่มีปัจจัยในเรื่องจำนวนผู้ใช้ ส่วนผสม อุณหภูมิ รวมทั้งระยะเวลาในการเปลี่ยนน้ำ

จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะมีไซยาไนด์คลอไรด์ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างกรดยูริกในปัสสาวะกับคลอรีนในสระว่ายน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 30 ไมโครกรัมต่อลิตร (ppb) ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับการที่องค์การอนามัยโลกอนุญาตให้มีการใช้ไซยาไนด์คลอไรด์ไม่เกิน 70 ppb ในน้ำดื่ม ในขณะที่ปริมาณของไซยาไนด์คลอไรด์ที่ทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิตได้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2,500 ppb และนั่นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่สระว่ายน้ำจะมีปริมาณสารพิษสูงขนาดนั้น เว้นเสียแต่ว่าผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะหลายล้านคนจะพร้อมใจกันปัสสาวะลงในสระว่ายน้ำในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่า สารเคมีปริมาณน้อยจะไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ดี ไซยาไนด์คลอไรด์ไม่ใช่สารพิษเดียวที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่างปัสสาวะและคลอรีนในสระว่ายน้ำ

การทำปฏิกิริยากันระหว่างกรดยูริกและคลอรีนยังก่อให้เกิดสารไตรโคลรามีน (Trichloramine) สารพิษอีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและปอด ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่า การได้รับสารไตรโคลรามีนมีความเชื่อมโยงกับอัตราการเกิดโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นในเด็ก แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาใดที่ให้ข้อสรุปได้อย่างชัดเจน

ความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตประจำวันของคนเรามักจะรายล้อมไปด้วยสารพิษอยู่เสมอ ดังนั้นจึงควรมีการประเมินวิธีการจัดการต่อความเสี่ยงหรือวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต  และเมื่อพิจารณาถึงวิธีการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดแล้วให้พิจารณาต่อไปถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งอื่นใดเป็นอันตรายถึงชีวิต หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้รู้สึกไม่สบายจากการใช้บริการสระว่ายน้ำ

ที่มา :: https://www.scimath.org/article-chemistry/item/7743-2017-12-04-04-48-40